ข่อย

ใบ
ยับยั้งแบคทีเรีย ลดอาการปวดฟัน ลดการอักเสบ

ข่อย เรามักนึกถึงสมัยโบราณนำข่อยมาทุบให้แตกแล้วใช้แปรงทำความสะอาดช่องปากและฟัน ซึ่งในสมัยนั้นข่อยถือเป็นผู้ช่วยดูแลรักษาช่องปากและฟันได้ดี นอกจากนั้นข่อยยังทำให้เรานึกถึง “สมุดข่อย” ที่ใช้จดจารบันทึกความเป็นมาต่างๆ ทางประวัติศาสตร์แทนสมุดในทุกวันนี้ ทำให้เราได้รู้ว่ามีการนำข่อยมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ แต่นอกจากประโยชน์ข้างต้นแล้วข่อยยังมีประโยชน์อีกมากมายที่เราคาดกันไม่ถึง ปัจจุบันผู้คนนิยมปลูกต้นข่อยไว้เพื่อทำรั้ว โดยอาจมีการดัดปรับแต่งเป็นรูปร่างต่างๆ เรียกว่า “ต้นข่อยดัด” ซึ่งคนโบราณเชื่อว่าข่อยเป็นไม้มงคล หากปลูกในวันเสาร์เอาไว้รอบๆ บ้าน และปลูกทางทิศตะวันออกจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความอดทน แข็งแกร่ง มีความมั่นคง ช่วยป้องกันศัตรูหรือผู้ไม่หวังดี ส่วนใบข่อยยังใช้นำมาพัดโบกเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปจากบ้านได้ด้วย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้น (T) ขนาดกลาง สูงประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นค่อนข้างคดงอ เป็นปุ่มปมหรือเป็นพู เป็นร่องทั่วไป เรือนยอดเป็นรูปทรงกลม หรือรูปทรงกระบอกทึบ

ใบ เป็นใบประกอบ ลักษณะใบรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบจักแบบซี่ฟัน ใบมีสีเขียวเล็กหนา และแข็ง แผ่นใบเรียบ ท้องใบจะสากระคายคล้ายกับกระดาษทราย

ดอก ดอกเพศผู้จะรวมกันเป็นช่อดอกแบบหัวกลม และมีก้านดอกที่สั้น มีสีเหลืองอมเขียวหรือเกือบขาว ส่วนดอกเพศเมียนั้นก้านดอกจะยาวและมักออกเป็นคู่สีเขียว

ผล ลักษณะของผลกลมคล้ายกับเมล็ดพริกไทย สีขาว เรียบหรือค่อนข้างเรียบ เปลือกในเป็นเส้นสีขาวและมียางสีขาวซึมออกมาเมื่อถูกตัด เมือผลสุกจะมีสีเหลืองอ่อน

รสและสรรพคุณในตำรายา

ราก รสเมาฝาดขม รักษาบาดแผล

เปลือกราก รสเมาขม เป็นยาบำรุงหัวใจ

เปลือกต้น รสเมาฝาดขม ดับพิษในกระดูกและเส้นเอ็น แก้โรคผิวหนัง หุงเป็นน้ำมันทาริดสีดวง แก้อาการท้องร่วง รักษารำมะนาด รักษาแผล

กระพี้ รสเมาฝาดขม แก้พยาธิ แก้มะเร็ง ฝนกับน้ำปูนใสทาแก้ผื่นคัน

ใบสด รสเมาเฝื่อน ย่างไฟพอเหลืองและกรอบ ชงน้ำดื่มทำให้เป็นยาระบายอ่อน ๆ

เมล็ด รสเมามันร้อน เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ